หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

## มือใหม่ถ่ายภาพเบื้องต้น ตอนที่ 9 ##

บทนี้เป็นเรื่องการถ่ายภาพอีกประเภทหนึ่ง ที่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่าน คือ การถ่ายภาพกลางคืน หรือถ่ายภาพในที่มีแสงต่ำ ๆ ....ผมไม่พูดถึงเรื่องการใช้แฟลชน่ะครับ เพราะเรื่องแฟลชต้องแยกพูดกันไปเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง

การถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อย...ในส่วนตัวผมเองมักจะยึดหลักการง่าย ๆ ไว้หลายอย่าง เช่น

- ใช้แฟลชให้น้อยที่สุด จนแทบจะไม่ใช้เลย ผมมักจะเน้นเรื่องอารมณ์ภาพที่เห็นแสงและเงา เน้นการวัดแสง เพราะถ้าเราใช้แฟลช อารมณ์ภาพบางอย่างจะหายไป โดยเฉพาะมิติของภาพ(ไม่พูดถึงการใช้แฟลชชั้นสูงที่ใช้ในสตูดิโอ...เราพูดในแง่การถ่ายภาพง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป)

- เปิด ISO ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้...ที่ผมใช้คือ 100 ยกเว้นบางสถานการณ์ที่จำเป็นจริง ๆ เช่น ไม่มีขาตั้งกล้อง หรือได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า 30 ผมจึงจะยอมปรับความไวแสงเป็น 200 หรือ 400 แต่มักจะไม่เกิน 400.....เหตุผลมีข้อเดียวคือ ไม่อยากให้เกรนภาพหยาบเกินไปครับ (ยกเว้นที่บางคนอาจจะชอบลักษณะของเกรน ในภาพบางประเภท) 


- ใช้ขาตั้งกล้องทุกครั้ง เท่าที่ความขยันในตัวของเรายังพอมี เพราะคนที่เคยแบกขาตั้งกล้องน้ำหนัก 2 กก.ขึ้นบ่าสักสองชั่วโมงคงจะเข้าใจความจริงข้อนี้ดี ผมมักจะมีขาตั้งกล้องขนาดกลาง หัวบอลติดตัวไปทุกครั้ง (และมักจะวางลืมไว้ ต้องกลับมาหาบ่อยครั้ง)

ขาตั้งกล้องสามารถทำให้เราบันทึกภาพด้วยการเซ็ทกล้องที่จะได้ภาพมีคุณภาพได้ดีที่สุด เช่น ISO ต่ำสุด หรือเปิดรูรับแสงได้แคบพอที่จะได้ความชัดลึกที่ถูกต้องกับภาพแต่ละประเภท การใช้ขาตั้งกล้องสามารถทำให้เราใช้ความเร็วต่ำได้เท่าที่ต้องการ...

- ถ่ายเผื่อหลาย ๆ ช๊อต โดยเฉพาะในกรณีที่เราไม่มีขาตั้งกล้องและความเร็วชัตเตอร์ที่ได้ ต่ำกว่า 60 ...ผมมักตั้งถ่ายแบบ continuous ไว้สำหรับภาพประเภทนี้ เพราะบางครั้งมือเราจะสั่นไหว...การถ่ายเผื่อเลือก อาจจะ สิบ เอาแค่หนึ่ง จึงเป็นวิธีการใหม่ที่ผมมักใช้บ่อยขึ้น(หลังจากที่มาเล่นดิจิตัลแทนฟิลม์)

- ในกรณีที่ไม่มีขาตั้งกล้อง .....ถ้าเราปรับทุกอย่างแล้ว เช่น ความไวแสง ถึง 400 แล้ว หน้ากล้องกว้างสุดแล้ว ยังได้ความเร็วชัตเตอร์ไม่สูงพอที่จะทำให้ภาพไม่สั่นไหว ผมจะตั้งชดเชยไปทางอันเดอร์ 1 สต๊อฟทันที เพื่อดึงความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้นมาอีกหนึ่งเท่าตัว แล้วค่อยมาว่ากันในโฟโตช๊อพ


ภาพถ่ายคุณลุงสุชาติ ทรัพย์สิน...หนังสุชาติ...เพิ่งได้รับเกียรติยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปี 49

แต่ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 48 ...เป็นช่วงที่คุณลุงจัดไหว้ครูตะลุง และครอบครูตะลุงให้กับศิษย์ใหม่ด้วย จะเห็นพุ่มบายศรีวางอยู่ด้วย

ผมไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง เลนส์ไวด์ 28 มม. ที่ติดกล้องมินอลต้า 7i อยู่

เปิดหน้ากล้อง เอฟ 4 โหมด A วัดแสงไปที่บริเวณถาดอาหารคาวหวานที่วางที่พื้น แล้วชดเชยอันเดอร์ลงมาอีกครึ่งสต๊อฟ(ชดเชยอันเดอร์ โดยการเพิ่มความไวชัตเตอร์ขึ้นมาอีกครึ่งเท่า) ได้ความไวแสงประมาณ 125

รอจังหวะที่เงาของรูปหนังเป็นทางยาวพาดไปที่จอ เพื่อลดความโล่งว่างของจอหนังด้วย



ภาพนี้ถ่ายที่วัดธาตุน้อย จันดี เป็นวัดรอบนอก ชนบทของนครศรีธรรมราช ที่วัดนี้มีพระนอนกลางแจ้งที่งดงามมาก

ผมไปถึงวัดในคืนเวียนเทียน วิสาขะบูชา.....เล็งมุมไว้ จนคนเริ่มกลับ จึงขอแรงจากเด็กน้อยสามสี่คนช่วยมาเป็นแบบ...วัดแสงไปที่ฐานเจดีย์ ไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง เปิดหน้ากล้องกว้างสุด เลนส์ 28 มม. (รูรับแสงกว้างสุด แต่ความชัดลึกยังโอเค เพราะคุณสมบัติของเลนส์ไวด์ที่จะให้ความชัดลึกได้มาก และเลือกโฟกัส 1 ใน 3 ของระยะทาง.....เคยพูดถึงในบทก่อน ๆแล้วครับ



ภาพในวัดพระธาตุ เป็นข้างแรม เห็นดวงจันทร์เสี้ยวเกี่ยวฟ้าอยู่ด้วย(เห็นเปล่าครับ)

กล้องมินอลต้า 7i โหมด M ไม่มีขาตั้งกล้อง(อีกแล้ว)....วัดแสงปกติแล้วชดเชยอันเดอร์ประมาณ 2 สต๊อฟ เพื่อไม่ให้ดวงจันทร์เว่อร์เกินไป จัดเจดีย์เป็นเงาดำและสร้างฉากหน้าด้วยพุ่มต้นไม้ iso 100



ภาพนี้ไม่ใช้ขาตั้งกล้องครับ ถ่ายเผื่อมา 3 ภาพ
วัดแสงเฉลี่ย F/4 S/0.3s ISO800 ครับ เข้ามาปรับ Level ใน PS นิดหน่อย 




D70s กับ ISO 1600 ครับ ด้วย 80-200 f/2.8





ภาพนี้ถ่ายซูมด้วยช่วง 200 mm. ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 รูรับแสง 2.8 วัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง ปรับ ISO เป็น High 1 EV over 1600 ไม่ได้ใช้ขาตั้งครับผม








บทนี้ว่ากันถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การถ่ายภาพบุคคล 

ในส่วนตัวของผมแล้วถือว่าการถ่ายภาพบุคคลเป็นงานหินที่สุดสำหรับผม...โดยเฉพาะการถ่ายภาพบุคคลในงานแฟชั่น

หลายครั้งที่งานของเพื่อนฝูงเข้ามาจะหลีกเลี่ยงงานถ่ายลักษณะแบบนี้ได้ยาก อาศัยว่ามีความเข้าใจเรื่ององค์ประกอบพื้นฐานและเรื่องแสงเงาอยู่บ้าง พอจะเอามาช่วยในงานได้

เมื่อถ่ายภาพบุคคล สิ่งที่ผมมักจะให้ความสำคัญก่อนเสมอ คือ เรื่องแสงเงา และฉากหลัง รวมถึงองค์ประกอบรอบรอบตัวว่าจะดึงมาช่วยกับการถ่ายแบบของเราได้มากน้อยแค่ไหน



ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม...บางทีนางแบบนายแบบจะเด่นขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะตัวแบบเพียงอย่างเดียว แต่ต้นไม้ที่อยู่ด้านข้างแล้วดึงเข้ามาเป็นแบบ แนวของต้นไม้ แนวของสิ่งก่อสร้าง จะสามารถมาช่วยเราได้ทั้งนั้น เพียงแต่ต้องควบคุมเรื่องความชัดลึกให้ดี ถ้าชัดลึกสูงไป สิ่งรอบรอบก็จะเข้ามามีบทบาทต่อภาพเรามากเกินไป ถ้าคุมชัดลึกน้อยเกินไป นางแบบอาจจะชัดแค่ส่วนเดียว ก็ทำให้ภาพลดคุณภาพลงไปได้


ภาพนี้ ผมใช้ ซูม 70-200 เอฟ 5.6 ...ใช้ที่ระยะประมาณ 150 มม.

ด้วยเพราะฉากหลังเป็นพุ่มไม้ที่อยู่ห่างไปราว 10 เมตร ดังนั้นผมสามารถเลือกใช้รูรับแสงที่ 5.6 ได้เลย โดยไม่ต้องกลัวว่าพุ่มไม้ด้านหลังจะไม่หลุดโฟกัส ซึ่งที่รูรับแสงระดับนี้ผมสามารถคุมความชัดลึกของตัวแบบได้ดีขึ้น

ภาพนี้...ในวันที่ไปถ่ายค่อนข้างครึ้มฝนมาก แสงเงาจึงขาดไปอย่างน่าเสียดายมากครับ (ซอฟต์ มาทำในโฟโต้ช๊อพ)



length 37 mm f2.8 1/3sec ISO 1600





สุดท้ายแล้วนะครับ

ผมเข้าใจสภาพของคนที่เพิ่งหัดจับกล้อง ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหนดี อยากถ่ายภาพเป็น อยากก้าวหน้าในการถ่ายภาพ แต่คลำทางไม่ค่อยถูก ว่าจะเดินไปทางไหน

"มือใหม่ ถ่ายภาพเบื้อต้น" จึงเป็นห้องเรียนที่มีบรรยากาศง่าย ๆ สบาย ๆ เริ่มจากตอนที่ 1 ..ผมเขียนไปเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ก็ 9 ตอน

ผมคาดว่า ความรู้เบื้องต้น ที่ชาวรุ๊กกี้น่าจะเรียนรู้คงเพียงพอที่จะทำให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว...แม้ว่าบทเรียนยังมีอีกมาก แต่คาดว่าทุกคนถ้าตั้งใจจริงที่จะพัฒนาฝีมือ

การจะก้าวไปข้างหน้าได้ในระดับไหน ก็คงขึ้นกับแต่ละคนแล้วล่ะครับว่า จะมุ่งมั่น ฝึกหัด ขยัน แค่ไหน....

ขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมทุกทุกท่านที่ทำให้ คอร์สเรียน 9 ตอนนี้

ขอบคุณ คุณหมอ ฝนแสนห่า ด้วยนะครับสำหรับบทความนี้ในเว็บ Pixpros

ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพน่ะครับผม



ไม่มีความคิดเห็น: