หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

## มือใหม่ถ่ายภาพเบื้องต้น ตอนที่ 4 ##

     เรียนรู้เรื่องกล้องขั้นพื้นฐาน รู้เรื่องเส้น เรื่องจัดองค์ประกอบ มาพอสมควรแล้วน่ะครับ วันนี้ผมจะเอาเรื่องลูกเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีความสำคัญสำหรับภาพบางประเภทมาให้ได้รู้ได้เล่นกันครับ



ตอนนี้มีหลายเรื่องดังนี้ครับ
1. ฟิลเตอร์ PL, C-PL
2. ฟิลเตอร์สี
3. สปีดชัตเตอร์ ช้า, เร็ว
4. โหมดถ่ายภาพ P S A M


ตอนนี้เป็นเรื่องฟิลเตอร์ครับ

ฟิลเตอร์ก็คือ..ชิ้นส่วนของแผ่นแก้ว หรือแผ่นกระจก หรืออื่น ๆ ที่นำมาใส่ที่หน้าเลนส์เพื่อหวังผลพิเศษบางอย่าง มีหลากหลายชนิดมาก มีทั้งเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม หรือเป็นวงกลมที่สวมเข้าที่หน้าเลนส์ หรือท้ายเลนส์ได้

ที่ผมนำติดตัวไปตลอดเวลา นอกจาก ฟิลเตอร์ยูวีที่ติดมาประจำที่หน้าเลนส์แล้ว ก็ยังมี ฟิลเตอร์ PL (Polarize)

ฟิลเตอร์พีแอล เป็นฟิลเตอร์ที่มีประโยชน์ในแง่การตัดแสงสะท้อนที่สะท้อนออกมาจากผิวของวัตถุที่มีความมัน เวลาใช้ฟิลเตอร์พีแอล จะช่วยกรองแสงสะท้อน ทำให้เราได้สีที่อิ่มตัวมากขึ้น

ใช้กับการถ่ายท้องฟ้าก็จะทำให้ฟ้าเข้มขึ้น

หลักการง่าย ๆ ของฟิลเตอร์ชนิดนี้ คือ ฟิลเตอร์จะมีโครงสร้างของกรอบ 2 ชั้น ชั้นในจะติดเข้าไปทางด้านหน้าเลนส์ อีกชั้นหนึ่งด้านนอกจะเป็นกระจกที่มีฟิล์มของ PL แปะอยู่(เหมือนติดฟิล์มกรองแสงกระจกรถยนต์)

    ไอ้เจ้าตัวฟิล์มที่ว่านี้ จะเป็นสารชนิดหนึ่ง ที่ในขบวนการผลิต เมื่อโดนความร้อนแล้ว จะถูกยืดออกอย่างรวดเร็ว จนโมเลกุลจะจับเรียงตัวเป็นแถว ๆ (เหมือนกองทหารที่ยืนแถวกันอย่างเรียบร้อย)

ดังนั้นเมื่อทหารยืนแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้าเราจะวิ่งให้ผ่านกองทหาร เราจะต้องวิ่งในแนวที่สามารถสอดไปในระหว่างทหารที่ยืนอยู่ได้ คือต้องทำตัวตรง ๆ เข้าไป

ฟิลเตอร์ที่ดี กองทหารต้องยืนเป็นแถวมีระเบียบ ไม่แตกแถว..ราคาจะแพงด้วย

ถ้าเรากลิ้งเข้าไป จะไปชนกับแนวทหาร ไม่สามารถผ่านได้

แสงก็เหมือนกัน...เมื่อแสงที่มีระนาบมากมายสะท้อนมาหาฟิลเตอร์ มันจะมีแค่บางระนานที่สามารถสอดแทรกเข้าไปในแนวโมเลกุลได้ ระนาบที่เข้ามาแบบเฉียง ๆ จะโดนสะกัดไปมากน้อยต่างกันแล้วแต่มุมที่แสงวิ่งมา

ดังนั้นเมื่อเราใช้ฟิลเตอร์นี่ จึงทำให้ได้แสงที่อิ่มตัวขึ้น

คนที่ชอบถ่ายวิวทิวทัศน์ ดอกไม้..จะมีประโยชน์มากเลยครับ..ลองดูซิครับ แต่ราคาจะแพงไปสักหน่อย ตั้งแต่ 7-800 ไปจนถึงหลาย ๆ พัน

มันจะช่วยลดแสงสะท้อนจากผิวของใบไม้ ทำให้สีที่ใบไม้อิ่มตัวขึ้น สีเขียวเป็นเขียว.....

วิธีใช้ฟิลเตอร์พีแอลง่ายมากครับ...เพราะฟิลเตอร์ชนิดนี้มีกรอบสองชั้น เราก็แค่หมุนฟิลเตอร์ชั้นนอกไปอย่างช้า ๆ (ถ้าให้ดีต้องหมุนในทิศที่สวนกับการหมุนฟิลเตอร์เข้าไปติดกับหน้าเลนส์ เพื่อป้องกันฟิลเตอร์หลุดโดยไม่ทันระวัง) สังเกตุว่าแสงสะท้อนที่วัตถุจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ หมุนจนกว่าได้แสงอิ่มตัว สีสดใสตามใจเราชอบ แล้วหยุด

ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า เราต้องโฟกัสภาพก่อนเสมอ จึงจะหมุนฟิลเตอร์....ทำไมต้องทำแบบนี้ ?



ภาพนี้ ถ่ายในเวลาไม่ห่างกันมาก...แค่ 1-2 นาที สภาพแสงไม่เปลี่ยน

ด้านซ้ายไม่ใส่ ฟิลเตอร์พีแอล ...สังเกตุเห็นแสงสะท้อนจากใบไม้ว่ามีมากจนเห็นเป็นปื้นสีขาว(แก้ด้วยช๊อพ ยากมากกกกก)

พอเราใส่ฟิลเตอร์เข้าไป หมุนจนแสงสะท้อนถูกตัด..จะได้ภาพที่สีสันอิ่มตัวมากขึ้นครับ

....................................

ระวังว่าฟิลเตอร์พีแอลทำให้แสงถูกกลืนไปบางส่วน...ภาพอาจจะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง ถ้าไม่ระวังอาจจะทำให้ภาพสั่นได้ครับ

ในการถ่ายภาพทิวทัศน์...ฟิลเตอร์ตัวนี้จะตัดแสงสะท้อนจากท้องฟ้า...ทำให้สีของฟ้าเข้มขึ้น ก้อนเมฆดูเป็นกลุ่มก้อนชัดขึ้น



ในการใช้ฟิลเตอร์ตัวนี้ กับการถ่ายภาพที่มีแสงจากดวงอาทิตย์ จะมีหลักการอันหนึ่งก็คือ..."มุมโพลาไรซ์"

ให้เรากางนิ้วชั้กับนิ้วโป้งของเรา....เป็นมุมตั้งฉากกัน

นิ้งโป้งให้ชี้ไปหาดวงอาทิตย์...นิ้งชี้จะชี้ไปทิศ 90 องศารอบรอบดวงอาทิตย์ ทิศที่นิ้วชี้ชี้ไปนี้ ให้แทนแกนของเลนส์...

ทิศที่นิ้วชี้ชี้อยู่นี้ จะให้ผลของโพลาไรซ์ที่ดีที่สุด คือ ถ้าเราถ่ายท้องฟ้าในทิศ 90 องศาจากแกนสู่ดวงอาทิตย์ มุมนี้จะทำให้สีท้องฟ้าเข้มครามมากที่สุด.....

ภาพข้างบนนี้...ผมยืนหันข้างให้ดวงอาทิตย์...ดังนั้น มุมโพลาไรซ์จึงดีที่สุด (นิ้วโป้งจะชี้ดวงอาทิตย์ นิ้วชี้จะชั้ไปในทิศทางเดียวกับแนวของเลนส์ คือชี้ไปที่ท้องฟ้า)

ถ้าหมุนกล้องไปแนวอื่นสีท้องฟ้าจะค่อย ๆ จางลง จนน้อยที่สุดเมื่อมุมเริ่มห่างจาก 90 องศามากที่สุด นั่นก็คือ 0 กับ 180 องศา


ภาพนี้....ผมถ่ายย้อนแสง ดังนั้นแนวของดวงอาทิตย์ กับแนวของแกนของเลนส์ที่ส่องไปที่ตัวแบบ แทบจะทับกัน (อาจจะไม่เกิน 10 องศา) ดังนั้นการใส่ฟิลเตอร์พีแอล จึงไม่มีผลใดใดต่อภาพ(อาจจะมีเล็กน้อยจนไม่สามารถสังเกตุเห็นได้)

การใส่ฟิลเตอร์พีแอล จะทำให้ได้ชัตเตอร์ช้าไปด้วยซ้ำครับ




ภาพนี้ สังเกตุเห็นเงาพระธาตุที่ตกกระทบลงบนฝากระโปรงรถมั๊ยครับ...

ภาพเงาแบบนี้ เกิดจากแสงบางระนาบ(จากหลายๆๆๆระนาบ) ที่สะท้อนจากผิววัตถุออกมาสู่กล้อง (ระนาบอื่น ๆ อาจจะสะท้อนออกไปในทิศทางอื่น..เหลือเพียงระนาบที่ฝ่าแถวทหารเข้ามาได้) เมื่อใช้พีแอลตัด แสงสะท้อนจะหายไปหมดหรือเกือบหมด....

ข้อสังเกตุ...ยิ่งผิวมันเท่าไหร่จะยิ่งสะท้อนได้ดีมากเท่านั้น เพราะผิวเรียบ และเราก็หวังผลจากพีแอลได้มากขึ้นด้วย.... 



ภาพนี้สังเกตุการจัดองค์ประกอบ....ผมวางเรือลำใหญ่ไว้ที่จุดตัดเก้าช่อง(โดยประมาณ) มีเส้นโค้ง มีการเปิดหน้า เส้นขอบฟ้าไม่เอียง ...ทบทวนบทเรียน

ภาพนี้มีดวงอาทิตย์อยู่ทางขวาบน.....ผมยกมือซ้ายขึ้นมา กางนิ้วชี้กับนิ้วโป้งออกจากกัน ทำมุมประมาณ 90 องศา นิ้วโป้งจะต้องชี้ไปที่ดวงอาทิตย์เสมอ เพื่อจะดูว่านิ้วชี้ชี้ไปที่ทิศไหน ปรากฏว่านิ้วชี้ชี้ไปที่หมายเลข 1 ดังนั้นมุมโพลาไรซ์ที่ดีที่สุด ที่เมื่อหมุนฟิลเตอร์พีแอลแล้วจะตัดแสงได้ดีที่สุด ท้องฟ้าจะเข้มที่สุดคือที่บริเวณหมายเลข 1 ...ส่วนบริเวณหมายเลข 2 มุมโพลาไรซ์จะไม่ดี เพราะมุมน้อยกว่า 90 องศา ภาพที่ได้ ท้องฟ้าจะจืดกว่าที่บริเวณ เลข 1

เพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง หมายเลข 1 ไม่จำเพาะต้องอยู่เฉพาะจุดนี้เท่านั้น มีหลายพื้นที่บริเวณรอบรอบดวงอาทิตย์ เหมือนเราหมุนวงเวียนที่มีจุดหลักปักที่ดวงอาทิตย์(นิ้วโป้ง) แล้วหมุนนิ้งชี้ให้ทำมุม 90 องศา กับนิ้วโป้ง



Originally Posted by MAN-GB View Post
มันมี2แบบใช่ป่าวครับ PL กับ C-PL หรือว่ามันเหมือนกัน
ไม่เหมือนกันครับ.. PL ใช้กับกล้องที่เป็นแมนนวลโฟกัส ส่วน CPL ใช้กับกล้องออโต้โฟกัส..เหตุผลเท่าที่ทราบ เพราะการวางตัวของตัวเซนเซอร์ในกล้องไม่เหมือนกัน

ผมเคยซื้อ PL มาใส่ออโต้โฟกัส (สะเพร่า) ...ปรากฏว่าถ่ายปกติไม่มีปัญหา แต่พอไปเจอสภาพแสงที่มีเรื่องกระจกเข้ามาเกี่ยวข้อง สีจะเพี้ยนเลยครับ....คงเกี่ยวเนื่องกับตัวเซนเซอร์ที่ว่าแหล่ะครับ...(แต่ไม่รู้แบบละเอียด)


Originally Posted by p-orbital View Post
ขอถามอาจารย์หมอสองข้อนะครับ
ข้อแรกพี่ Man-GB ถามไปแล้ว C-PL เหมือนกับ PL ไหมครับ
ข้อสอง ทำไมเวลาผมมองท้องฟ้า จะรู้สึกว่าด้านที่่ตรงข้ามกับพระิอาทิตย์ ฟ้าจะเข้มที่สุดล่ะครับ ทั้งๆที่มันเป็นมุม 180 องศา ไม่ใช่ 90 ใช่เพราะว่ามันไม่ย้อนแสงหรือเปล่า ไม่รู้ว่าคำถามข้อนี้จะเชื่อมโยงกับ PL ได้ไหมครับ
คงต้องแยกประเด็นกันให้ดีน่ะครับผมว่า

     ท้องฟ้าที่เข้มที่สุดถ้ามองด้วยตาเปล่า แน่นอนว่าต้องเป็นฝั่งตรงข้ามพระอาทิตย์ เพราะได้รับแสงน้อย

แต่...ฟิลเตอร์ PL นี่ พูดถึงผลของการตัดแสงสะท้อนออกจากสภาพธรรมชาติให้ได้เปอร์เซนต์จากเดิมมากที่สุดเท่านั้นน่ะครับ....

เช่นสมมุติที่ ๙๐ องศา หมุนพีแอลแล้วตัดได้ ๔๕ % แต่ที่ ๑๘๐ องศา อาจจะตัดได้แค่ ๕ % (แต่ฟ้าที่ ๑๘๐ องศา อาจจะเข้มกว่าที่ ๙๐ องศา เพราะได้รับแสงน้อยกว่า)
แต่ถ้าสังเกตุลึกลงไป...ที่ ๙๐ องศาจะมีมิติที่ดีกว่าที่ ๑๘๐ องศา...



     บทนี้เป็นเรื่องฟิลเตอร์อีกอันหนึ่ง ที่กลุ่มใช้กล้องฟิลม์รู้จักกันดี คือ ฟิลเตอร์สี ที่เอามาบังหน้าเลนส์(กล้องดิจิตัลอาจจะไม่ค่อยรู้จัก เพราะมาใส่สีทีหลังจากโฟโต้ช๊อพได้)

ฟิลเตอร์สีที่ผมมักเอาติดตัว คือ ฟิลเตอร์ที่เรียกว่า ฟิลเตอร์เกรตดูเอท ....เป็นฟิลเตอร์แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสีหลายสีให้เราเลือก ซีกบนหนึ่งสี ซีกล่างหนึ่งสี สีสองสีจะไม่ตัดกันเด็ดขาด แต่จะค่อย ๆ ไล่โทน เช่น สีขาวใสแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม....

เท่าที่เห็นมักมีสองแผ่น คือ สีส้มครึ่งซีก กับสีเทาครึ่งซีก(ไว้ลดแสงสว่างที่ท้องฟ้า เพื่อไม่ให้ต่างจากพื้นดินมากนัก)


เป็นภาพพระตำหนักที่ปากพนัง...เวลาราวราว 2 ทุ่ม ใช้ขาตั้งกล้อง

ผมสังเกตุเห็นแสงที่สะท้อนลงน้ำค่อนข้างเยอะ และสีสว่างมากไป จึงใช้เกรตดูเอทฟิลเตอร์สีส้ม ปิดด้านล่าง ไล่โทนมาทางด้านบนซึ่งไม่มีสี....

ภาพที่ได้ ส่วนบนจะไม่มีผลจากฟิลเตอร์ เพราะไปซ้อนกับตรงส่วนใสใสของแผ่นฟิลเตอร์ แต่ทางด้านล่างจะเปลี่ยนเป็นสีที่เราใส่เข้าไป

การวัดแสง ต้องวัดตรงด้านบนให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วค่อยใส่แผ่นฟิลเตอร์เข้าไปที่หลัง....(เข้าใจมั๊ยครับ ?)





ไอ้แบบกลมกลมน่ะ ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ เพราะขนาดค่อนข้างตายตัว จะเลื่อนขึ้นลงก็จำกัด เพราะต้องใส่เข้าไปในหน้าเลนส์เลยครับ...ส่วนเป็นแผ่นก็ควรเป็นแบบไล่โทน เราเลื่อนขึ้นลงได้สะดวก ว่าจะเอาสีตรงส่วนไหนของภาพ เช่น ถ่ายทะเล บางทีเราเอาท้องฟ้าแค่ 1/3 ของภาพ เราก็เลื่อนแถบสีให้ได้ตามที่เราจัดองค์ประกอบภาพ

1. แนะนำแบบนี้ครับ เป็นการไล่โทน

2. แบบนี้ สีจะตัดกัน ถ้าถ่ายรูปใช้รูรับแสงแคบ ๆ อาจจะเห็นรอยต่อชัดเจน

3. ฟิลเตอร์เกรตดูเอทสีเทาที่นิยมใช้ลดแสงสว่างของท้องฟ้า

4. Holder ที่ใช้ใส่ที่หน้าเลนส์ ก่อนหาฟิลเตอร์มาใส่ที่ร่องอีกทีหนึ่ง 



ตามรูป....

วัตถุที่ 1 ผิวไม่เรียบ สมมุติว่าเป็นก้อนหิน

วัตถุที่ 2 ผิวเรียบ สมมุติเป็นผิวน้ำ

วัตถุที่ 1 เมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบ จะสะท้อนออกมาไม่เป็นระเบียบ หลายทิศทางมาก...จึงไม่เห็นเงาของวัตถุอื่นในผิวก้อนหิน หมุน PL ไปทิศไหน ก็ไม่แตกต่างกัน

วัตถุที่ 2 เมื่อโดนแสง จะสะท้อนออกมาเป็นระเบียบ ในทิศทางเกือบจะเป็นทิศทางเดียวกัน เมื่อเราหมุน PL คือแค่จัดแถวกองทหารเสียใหม่ ก็จะสะกัดแสงได้ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดครับ



เรามาเรียนเรื่องความเร็วชัตเตอร์กันกันต่อน่ะครับ


ความเร็วชัตเตอร์ ผมแบ่งง่าย ๆ แบบลูกทุ่ง เป็น 2 กลุ่ม คือ ชัตเตอร์ช้า กับชัตเตอร์เร็ว

ชัตเตอร์ช้า ก็คือ เราบังคับชัตเตอร์ให้ช้า จะช้าเท่าไหร่ก็ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของงานที่เราจะถ่าย ส่วนใหญ่ เป็นได้ตั้งแต่ 1/30 วินาที ลงไป จนถึงหลาย ๆๆๆๆ นาที หรือเป็นชั่วโมง ...ไม่มีอะไรตายตัว

การใช้ชัตเตอร์ช้า โดยทั่วไปเราทราบน่ะครับว่า ต้องใช้ขาตั้งกล้องเข้าช่วย

เมื่อไหร่จะใช้ขาตั้งกล้องช่วย......"เมื่อความเร็วต่ำกว่าทางยาวโฟกัส"...

คือถ้าเราใช้ทางยาวโฟกัส 200 เราก็ไม่ควรใช้ความเร็วต่ำกว่า 200

ถ้าใช้เลนส์ 50 มม. ก็ไม่ควรให้ความเร็วต่ำกว่า 50

แต่ถ้าเป็นเลนส์ IS ที่มีตัวลดการสั่นเวลากดชัตเตอร์ ก็อาจจะยินยอมให้ต่ำกว่าค่านี้อีกเท่าตัว เช่น เลนส์ 125 แทนที่ค่าต่ำสุดของความไวชัตเตอร์เป็น 125 ก็อาจจะลดไปได้ถึง 60 โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องเข้าช่วย

แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องเข้าช่วย....ก็จะทำให้ภาพสมบูรณ์ขึ้น

แล้วเราจะตั้งชัตเตอร์ช้า ๆ ได้อย่างไร

1.เปิดหน้ากล้องให้แคบ ๆ เข้าไว้

2. ใช้ค่าไวแสงต่ำ ๆ

3. ถ่ายในที่มืด



ในโหมด M มีชัตเตอร์ B ให้เราเล่น

ภาพนี้ผมใช้ขาตั้งกล้อง รูรับแสง 8 ASA 100 เลนส์มินอลต้า 28 มม. ไม่ใส่ฟิลเตอร์ใดใดทั้งสิ้น

โฟกัสล่วงหน้าไปที่ ดวงไฟที่ศาลา....จัดองค์ประกอบ รอจนเห็นแสงพลุวิ่งขึ้นไป ก่อนจะแตกผมก็กดชัตเตอร์...กดค้างไว้จนพลุแตก แล้วเริ่มคล้อยต่ำลง จึงปล่อยชัตเตอร์

เป็นตัวอย่างของภาพจากการใช้ชัตเตอร์ช้า ประมาณ 5 วินาที



ขาตั้งกล้อง...โหมด M ..ฟิลเตอร์ PL เปิดรูรับแสงแคบ ๆ เช่น 16 ได้ชัตเตอร์ประมาณ 8 ....หมุน PL ให้ตัดแสงสะท้อนที่ผิวน้ำ และใบไม้ เพื่อให้เห็นสีอิ่มตัวขึ้น 



ภาพนี้ต้องการให้เห็นเมฆไหลแบบนุ่ม ๆ จึงใช้ชัตเตอร์ที่ 4 วินาที ขาตั้งกล้อง


ภาพนี้ iso100
shutter B 
Focus MF สุดกระบอกเลนส์
F 8




F 11 S 1/11

## มือใหม่ถ่ายภาพเบื้องต้น ตอนที่ 8 ##

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

## มือใหม่ถ่ายภาพเบื้องต้น ตอนที่ 2 ##

สำหรับตอนที่ 1 นะครับใครยังไม่ได้อ่านเชิญอ่านก่อนนะครับ^_^ http://suwanavong.blogspot.com/2012/07/1.html

ตอนที่ 2 นี้จะเป็นเรื่องการฝึกการจัดองค์ประกอบน่ะครับ


1. จุดตัดเก้าช่อง เป็นพื้นฐานของการถ่ายภาพสำหรับทุกคนเลยครับ




ภาพ ๆ หนึ่ง...ถ้าเราลากเส้น สองเส้นในแนวยืน และสองเส้นในแนวนอน จะได้เป็นสี่เหลี่ยมรูปเล็ก 9 รูป และมีจุดตัดในกรอบภาพ 4 ตำแหน่ง....(ที่มีของ "จุดตัดเก้าช่อง" )
ท่านผู้รู้บอกว่า.....(ตอนผมถ่ายรูปใหม่ ๆ ก็มีท่านผู้รู้นี่แหล่ะครับ มาบอกเรื่องนี้  )
เราควรวางจุดสนใจหลักของภาพที่มีเพียงหนึ่ง ไว้ที่จุดตัดเก้าช่องเหล่านี้
อย่าพยายามวางจุดสนใจไว้ที่จุดอื่น เช่น จุดกลางเป๊ะ จะทำให้ภาพดูแล้วอึดอัดไม่ชวนมอง

     การศึกษาองค์ประกอบภาพ เป็นแค่ความรู้พื้นฐาน...ถ้าเข้าใจ เราสามารถนำไปประยุกต์รูปแบบต่าง ๆ ให้เข้ากับสไตล์ของเราได้อีกมากมาย





ตัวอย่างภาพ.....เป๊ะเลยใช่มั๊ยครับ จุดตัดเก้าช่อง ทางด้านล่างขวา

ลองนึกถึงว่า ถ้าพระรูปนี้ไปอยู่ที่กลางภาพซิครับ...จะน่าดูกว่าแบบนี้หรือไม่ (มันไม่มีเหตุผลไปมากกว่า จิตวิทยาในการมอง...เหมือนกับการอ่านหนังสือ ที่มีการวางช่องไฟที่ลงตัว ทำให้เราอ่านสบายตามากขึ้นนั่นแหล่ะครับ)



ภาพนี้จุดสนใจ มี สองจุด คือ เด็ก (จุดสนใจหลัก) กับ พระพุทธรูป (จุดสนใจรองลงไป)...ผมวางไว้ที่จุดตัดเก่าช่องทั้งสองจุด


แม้แต่ดอกไม้ เราก็ใช้หลักการนี้เหมือนกันครับ





เรามาต่อเรื่อง "การเปิดหน้า" เลยดีกว่าครับผม

การเปิดหน้า คือ การปล่อยสเปซด้านหน้าแบบให้มากกว่าด้านหลังแบบ เพื่อไม่ให้สายตาแบบไปชนขอบกรอบภาพ...ทำให้มีพื้นที่ที่แบบมองออกไป

ตัวอย่างภาพ ...สังเกตุดูว่ามีทั้งจุดตัดเก้าช่อง และ เปิดหน้าพร้อม ๆ กันเลยครับ



กลุ่มเรือที่มีคนยืน เป็นกลุ่มจุดสนใจหลัก ...มีการเปิดหน้ามาทางด้านซ้าย


 การเปิดหน้า ทำให้ผู้มอง มองเห็นภาพแบบสบายสบาย......

เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับตอนที่ 2 ฝึกจิตนการในการจัดองค์ประกอบของภาพ ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมานั้นดูมีมิติมีเรื่องราวมากขึ้นครับ
ติดตามต่อในตอนที่ 3 นะครับ

## มือใหม่ถ่ายภาพเบื้องต้น ตอนที่ 1 ##

     ก่อนอื่นเลยผมต้องขอบคุณเจ้าของบทความคนนี้ที่เริ่มต้นเขียน บทความดีๆ ที่ทำให้ช่างภาพสมัครเล่นได้อ่านกัน และผมก็ได้อ่านบทความนี้เช่นกัน ทำให้ผมรู้จักกล้อง และวิธีการถ่ายภาพมากขึ้นครับ
     บทความนี้ผมได้เอามาเรียบเรียงใหม่จากเว็บบอร์ดของ http://www.pixpros.net/
โดย คุณฝนแสนห่า ครับผม

เริ่มจากกลไกรการทำงานของกล้องก่อนละกันนะครับ


กล้องที่สมาชิกใช้อยู่ มี 2 แบบง่าย ๆ คือ กล้องที่เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ (หลายคนเรีกกล้องคอมแพ๊ค...) กับกล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ (ที่เราใฝ่ฝัน) คือ กล้อง single lense reflex
กล้องทั้งสองแบบมีกลไกในการเกิดภาพไม่ต่างกันเลยครับ คือแสง(หรือภาพ) จะวิ่งเข้าทางเลนส์ ไปตกกระทบที่ฟิลม์ หรือ CCD หรือ CMOS เพื่อให้ไปเกิดภาพที่นั่น
ผมเอากล้องรุ่น FM 10 ที่ใช้ฟิลม์มาใช้อธิบาย เพราะสามารถเปิดดูตรงที่ฟิลม์อยู่ได้ด้วย จะได้จินตนาการได้ดีกว่า 


กล้องชนิดแพง ๆ นี่ จะสามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้...ผมลองถอดออกมาดูน่ะครับ
จะเห็นตัวเลขหลายแถวเลยครับ.....(เลนส์รุ่นใหม่ ๆ จะไม่ค่อยบอกให้รู้ แต่จะไปเห็นในตอนที่เรามองช่องมองภาพทีเดียวเลย)

ตัวเลขที่เห็นอยู่นี่ เป็นตัวเลขของรูรับแสงที่เลนส์จะเปิดให้แสงเข้าไปในกล้อง....ตัวเลข 22 คือตัวเลขที่บอกค่ารูรับแสง "แคบสุด" ของเลนส์ตัวนี้ ....3.5 คือค่าตัวเลขของรูรับแสงที่กว้างสุดของเลนส์ตัวนี้

จำง่าย ๆ "ตัวเลขมาก คือรูแคบ ...ส่วนตัวเลขน้อย คือ รูกว้าง"

อันนี้ต้องจำครับ เพราะเราต้องนำไปใช้ตลอดชีวิตการถ่ายภาพของเรา 



ตัวเลขแถวนี้ เป็นตัวบอกระยะทางของการโฟกัส ..เมื่อเราจะถ่ายภาพ เราต้องหมุนกระบอกเลนส์เพื่อโฟกัสให้ภาพชัดที่สุด(ภาพไม่เบลอ..หรือภาพซ้อนสองชั้นกลายเป็นชั้นเดียวกัน)...ระยะนี้จะช่วยยืนยันการโฟกัสอีกทีหนึ่ง

มีทั้งเป็นเมตรและเป็นฟุต.....
เลนส์รุ่นปัจจุบันอาจจะบอกตัวเลขเหล่านี้แค่หยาบ ๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นออโต้โฟกัส

ส่วนตัวเลขแถวล่างสุด 35-70 นั้น เป็นตัวเลขบอกค่าว่าเราหมุนซูมเลนส์ไปที่ระยะกี่ มม.....ตัวเลขน้อยจะซูมดึงภาพได้น้อยกว่า(แต่ได้มุมกว้างกว่า) ตัวเลขมากยิ่งซูมภาพเข้ามาได้ใกล้กว่า เช่น เลนส์ถ่ายนก จะใช้ประมาณที่ 1000 มม.

ตัวเลข 35-70 เป็นค่าซูมกลาง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันปกติทั่วๆไป


ที่ด้านหน้าเลนส์ จะมีตัวเลขบอกรายละเอียดของเลนส์แต่ล่ะตัวเอาไว้

ตัวเลข 35-70 คือระยะการซูมของเลนส์ตัวนี้

ส่วน 1 : 3.5-4.8 คือหน้ากล้องกว้างสุด( ที่ 35 มม. หน้ากล้องกว้างสุดที่ 3.5 แต่ที่ 70 มม. หน้ากล้องจะกว้างสุดแค่ 4.8......คือยิ่งซูม แสงยิ่งเข้ามาสู่กล้องได้น้อยลง)

เลนส์บางตัวตัวเลขจะมีค่าคงที่ เช่น 2.8 หรือ 4 (เลนส์พวกนี้เทคนิคการผลิตจะยุ่งยากกว่า ราคาจะสูงกว่าด้วย)



ถ้าเราถอดเลนส์ออกมาส่อง เราจะเห็นรูตรงกลางเลนส์เพื่อให้แสงผ่านเข้าออก

จะสังเกตุเห็นว่า ยิ่งเราเปิดที่ตัวเลขน้อย รูรับแสงจะยิ่งกว้าง เปิดที่ตัวเลขมาก รูจะยิ่งแคบ

เอ่.....แล้วไอ้ รูแคบ รูกว้าง มันจะมีผลอย่างไรต่อภาพถ่ายของเรา....

ค่อย ๆ เฉลยน่ะครับ..ว่ากันไปเรื่อย ๆ ก่อน 




เราจะเห็นแป้นปรับความเร็วของม่านชัตเตอร์อยู่ตรงนี้

ตัวเลขนี้จริง ๆ แล้วคือตัวเลขที่เอาไปหารเลข 1 ด้วยทุกครั้ง โดยมีหน่วยเป็นวินาที

เช่น 500 คือ ตัวเลข 1/500 วินาที (จินตนาการตามไปด้วยน่ะครับ ว่า 1/500 แค่เสี้ยวเสี้ยววินาทีเท่านั้นเองน่ะครับ)

กล้องรุ่นนี้สามารถเปิดม่านชัตเตอร์ให้แสงผ่านได้ตั้งแต่เวลา 1/1 วินาที จนถึง 1/2000 วินาที

ส่วนตัว B ที่เห็นนั้น Bulb ...หมายถึงเวลาที่ม่านชัตเตอร์เปิด จะน้อย จะมาก ขึ้นกับนิ้วชี้มือขวาของเราจะกดปุ่มลั่นชัตเตอร์นานแค่ไหน .....ถ้าเรากด 2 นาทีแล้วปล่อย ม่านชัตเตอร์ก็จะเปิดค้างไว้ สองนาที ด้วย

ตัวเลข 125 ที่เห็นเป็นสีแดงนั้น...บอกว่ากล้องรุ่นนี้สัมพันธ์กับแฟลชที่ความเร็ว 1/125 วินาที หรือต่ำกว่า

B จะมีประโยชน์ในบางสถานการณ์ ที่ต้องเปิดม่านชัตเตอร์นานกว่าที่กล้องรุ่นนั้นจะทำได้

###############

     เห็นตัวเลข 100 ตัวเล็ก ๆ ที่มีลูกศรชี้อยู่มั๊ยครับ.....ตัวเลขนี้เป็นตัวบอกค่าความไวแสงของฟิลม์(หรือเซนเซอร์ในกล้องดิจิตัล) เรามักจะเรียกว่า ASA หรือ ISO ....ซึ่งเราสามารถปรับตั้งใด้ง่าย ๆ (กล้องคิจิตัลบางรุ่น จะตั้งออโต้ตามสภาพแสงให้เลย...แต่ถ้ากล้องใช้ฟิลม์ไม่สามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ในฟิลม์ม้วนเดียวกัน...เอ๊ะ ต้องได้ซิ .....เอ้าเปลี่ยนได้ก็ได้ แต่ต้องเข้าใจกับมันอย่างถ่องแท้...ใครสงสัยถามน่ะครับจุดนี้) 



แผ่นสีดำบาง ๆ นี่แหล่ะที่เราเรียกว่าม่านชัตเตอร์(ราคาแพงหนักหนาแหล่ะครับ ผมเคยไปแตะด้วยปลายนิ้วที่มีเหงื่อนิดหน่อย...มันเหนียวติดกันทั้งแผง เสียค่ามือซนไปหลายพัน)

เมื่อเรากดชัตเตอร์.....กดไปครึ่งหนึ่งแค่วัดแสงกับโฟกัส แต่พอกดเต็มที่ ม่านชัตเตอร์จะมีกลไกทำงานให้เปิดออก แสงผ่านเข้ามาได้

ระยะเวลาที่ม่านชัตเตอร์เปิดแล้วปิด จะนานมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นกับว่าเราตั้งตัวเลขความไวชัตเตอร์มากน้อยแค่ไหน

แล้วความไวชัตเตอร์มากน้อยเท่าไหร่ จะให้ภาพแตกต่างกันอย่างไรบ้าง...มีแน่นอนครับ...โปรดติดตาม

เห็นแท่งสีขาวด้านซ้ายมือที่ยื่นลงมามั๊ยครับ เป็นแกนใส่ในกลักฟิลม์อีกทีหนึ่ง



ทดลองถ่ายภาพโดยเซ็ทค่าให้รูรับแสงต่างกัน. โฟกัสที่ช้างตัวแรก ขาตั้งกล้อง..สังเกตุเห็นอะไรที่ต่างกันบ้างครับ (ยังไม่ต้องไปนึกถึงความเร็วชัตเตอร์ก่อนน่ะครับ ลืมไปก่อน)

สังเกตุเห็นว่าที่ หน้ากล้อง 3.5 ช้างตัวหน้าจะชัดเจน(ติ๊งต่างเอาน่ะ แหะ แหะ) ส่วนลายผ้าด้านล่างจะไม่ค่อยชัดไปเรื่อย ๆ ช้างตัวที่สองก็ไม่ชัดเอาเสียเลย

ผิดกับที่หน้ากล้อง 22 ...การชัดจะกินพื้นที่เข้าไปที่ด้านหลังได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

....วิธีจำง่าย ๆ ....เคยเล่นสายยางล้างรถกันทุกคนใช่มั๊ยครับ เมื่อเราบีบปลายสายยางให้รูเล็ก น้ำจะพุ่งไปไกล พอปล่อยมือน้ำก็พุ่งใกล้....จำแค่นี้แหล่ะครับง่ายดี

####################

ภาพแรก เราเรียกว่า มี"ความชัดลึก" ต่ำ

ภาพที่สอง เราเรียกว่ามี "ความชัดลึก" สูง

(ข้อสังเกตุว่า แม้ศัพท์จะมีคำว่าชัดอยู่ด้วย ก็ไม่เกี่ยวกับความคมชัดของภาพน่ะครับ....ความชัดลึก เป็นแค่การบอกว่า ระยะที่ชัดในภาพมีมากน้อยแค่ไหน)

เรื่อง "ความชัดลึก"....เป็นเรื่องที่สำคัญในระดับต้นๆ ของการถ่ายภาพเลยครับ...

ทีนี้ผมวกไปหาการถ่ายภาพพอทเทรต(บุคคล) ว่า ถ้าเราต้องการนางแบบเด่น ฉากหลังหลุดโฟกัส เราจะเลือกรูรับแสงเท่าไหร่ ระหว่าง 4 กับ 22
และถ้าจะถ่ายภาพบุคคลที่ชัดทั้งนางแบบและภูเขาข้างหลังด้วย เราจะเลือกรูรับแสงเท่าไหร่ ระหว่าง 4 กับ 22

*****ถ้าเราเปิดหน้ากล้องกว้าง แสงที่พุ่งมาจากจุดใดจุดหนึ่งของแบ๊คกราวด์ เมื่อไปกระทบเลนส์ จะกระทบได้หลาย ๆ จุด อาจจะเป็นขอบด้านขวา หรือขอบด้านซ้าย หรือขอบบน หรือขอบล่างก็ได้...เมื่อแสงผ่านเลนส์ไปสู่ฟิลม์ จึงพร่ามัวไม่คมชัด
ถ้าเราปรับรูรับแสงให้แคบลงเรื่อย ๆ พื้นที่ที่เลนส์ที่จะให้แสงผ่านมาโดน จะถูกบีบให้น้อยลงด้วย ภาพจึงคมชัดกว่าครับ*****


ขอให้มองช่องแรกที่ ความไวแสง 100 ก่อนน่ะครับผม

ตารางที่ให้มาเห็นอะไรที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสง(หน้ากล้อง) และ ความไวชัตเตอร์มั๊ยครับ

...งงส์มั๊ยครับ...ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่มาจาก......

..............

สมมุติผมมีโอ่งใบใหญ่ใบหนึ่ง วางอยู่ท่ามกลางสายฝนตก มีฝาปิดมิดชิด...ถ้าเราเปรียบเทียบว่า น้ำเต็มโอ่งก็คือแสงที่เข้าสู่ฟิลม์พอดี เราจะเข้าใจง่ายขึ้น

ถ้าผมเปิดแง้มฝานิดเดียว(รูรับแสงเล็กแคบ) จะต้องใช้เวลานานนนนกว่าจะเต็ม(ชัตเตอร์ช้า)

แต่ถ้าโอ่งใบเดียวกัน เราเปิดฝาโอ่งกว้างขึ้น น้ำฝนก็จะเข้าโอ่งได้เร็วขึ้น แป๊บเดียวเต็ม เหมือนกับเราเปิดรูรับแสงกว้างขึ้น(ตัวเลขน้อยลง) ความไวชัตเตอร์ก็จะมากไปด้วย  

ที่หน้ากล้อง 8 เมื่อผมจะถ่ายภาพ ผมยกกล้องขึ้นเล็งไปที่นางแบบ กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเพื่อวัดแสง ผมต้องปรับไปที่ ความเร็วชัตเตอร์ 125 (หรือ 1/125 วินาที) เพื่อให้เข็มชี้ที่เลขศูนย์ แสดงว่าแสงพอดี (คือน้ำเต็มโอ่ง)

แต่ถ้าผมเห็นว่าที่หน้ากล้อง 8 นางแบบอาจจะไม่เด่น เพราะฉากหลังเด่นด้วย ผมจึงต้องลดความชัดของฉากหลังลงด้วย โดยที่นางแบบยังชัดเจนอยู่

ก็คือผมต้องลดความชัดลึกโดยการปรับหน้ากล้องไปที่ 5.6 (ฝาโอ่งเปิดมากขึ้น) เราจะได้ความเร็วชัตเตอร์เพิ่มเป็น 250 ทันที

ตัวเลข คู่ 8 - 125 กับ 5.6 - 250 ทั้งสองคู่นี้ น้ำเต็มโอ่งเหมือนกัน หรือ "ปริมาณแสง" ที่ลงสู่ฟิลม์เท่ากัน แต่ภาพจะไม่เหมือนกัน

..ถามว่า น้ำเต็มโอ่งเหมือนกัน ทำไมภาพที่ได้จึงแตกต่างกัน.....ติ๊กต๊อก ๆ ๆ ๆ

.................................................

และตัวเลขทั้งสองแถวจะสัมพันธ์กันตลอด เห็นมั๊ยครับ....เมื่อลดขนาดรูรับแสงลงหนึ่งช่วง(ตัวเลขมากขึ้น) ความไวชัตเตอร์จะช้าลงด้วยหนึ่งช่วง(ตัวเลขน้อยลง)

....................................................

ทีนี้ลองขยับไปที่แถวขวามือที่ความไวแสงเพิ่มขึ้นซิครับ...เห็นอะไร เพิ่ม เห็นอะไร ลด หรือเปล่าครับ.....สงสัยมั๊ยครับ

Originally Posted by pakdoo2002 View Post
1. ถามเป็นความรู้นะครับ แล้วฟังชั่นนี้เราจะรู้ได้งัยครับว่าน้ำเต็มโอ่งแล้วอ่ะครับ
2. ฟังชั่นนี้ DSLR มีรึปล่าวครับ
1. รู้จากประสบการณ์เป็นหลักใหญ่ล่ะครับ..เช่น ถ่ายพลุ ต้อง ASA 100 หน้ากล้อง 8 - 11 แล้วกดชัตเตอร์จนกว่าพลุลูกที่เราต้องการจะระเบิดหมด

หรือเกิดจากการคำนวณค่าต่าง ๆ เช่น เราต้องการถ่ายภาพอะไรสักอย่างในที่สลัวหรือค่อนข้างมืด วัดแสงแล้วปรากฏว่า แม้จะเปิดรูรับแสงกว้างสุดแล้วก็ตาม ยังต้องใช้ความเร็วต่ำกว่าที่กล้องมีให้ให้ เราต้องหลอกกล้อง โดยการปรับ ASA ไปที่สูง ๆ เช่น 1600 แล้ววัดแสง สมมุติได้แสงพอดีที่ 1 วินาที ...แต่เราไม่อยากถ่ายที่ ASA 1600 เราอยากถ่ายที่ ASA 100 เราก็คำนวณว่า 1600 นี่คือมากกว่า ASA 100 อยู่ 4 ช่วงแสง (เอฟสต๊อฟ....วันหลังจะลงรายละเอียดเอฟสต๊อฟ)

เมื่อคำนวณแล้ว ก็จะได้ 1 เป็น 2 เป็น 4 เป็น 8 เป็น 16 วินาที (มาจาก ASA 1600 เป็น 800 เป็น 400 เป็น 200 และเป็น 100 )

เราจึงถ่ายวัตถุที่เราอยากถ่ายโดยเปิดที่ ASA 100 โหมด M ชัตเตอร์ B (นาฬิกาจับที่ 16 วินาที)

2. มีครับ เฉพาะโหมด M ครับ 


จำค่าเหล่านี้ได้จนขึ้นใจแล้วใช่มั๊ยครับ

รูรับแสง 1 , 1.4 , 2 , 2.8 , 4 , 5.6 , 8 , 11 , 16 , 22 , 32

ความไวชัตเตอร์ 1 , 2 , 4 , 8 , 15 , 30 , 60 , 125 , 250 , 500 , 1000 ...

ความไวแสง 50 , 100 , 200 , 400 , 800 ...

คำว่าเอฟสต๊อฟ เป็นค่าบอก "ปริมาณแสง" ที่เปรียบเทียบระหว่างจุดสองจุด (ผิดกับคำว่า "แรงเทียน" ที่บอกปริมาณแสงในจุดใดจุดหนึ่ง)

เช่น ถ้าที่ความไวแสง และ ความไวชัตเตอร์คงที่ ....ที่รูรับแสง 4 จะมีปริมาณแสง เข้าสู่กล้องมากกว่า ที่รูรับแสง 5.6 อยู่ 1 สต๊อฟ

หรือ ที่รูรับแสง 22 จะมีปริมาณแสงน้อยกว่าที่ 2.8 อยู่ 6 สต๊อฟ

.........................................

หรือ ถ้าให้รูรับแสง กับ ความไวแสง คงที่ ....ที่ความเร็ว 1 จะได้ปริมาณแสงเข้าสู่กล้องมากกว่าที่ ความเร็ว 500 อยู่ 9 สต๊อฟ

..........................................

หรือ ถ้าให้รูรับแสง กับความไวชัตเตอร์คงที่....ที่ความไวแสง ISO 100 จะรับปริมาณแสงได้ช้า(หรือเข้าใจง่าย ๆ ว่า น้อยกว่า) ที่ ISO 400 อยู่ 2 สต๊อฟ

................ถ้าเราเข้าใจ...สังเกตุต่อไปว่า ถ้าเราตั้ง ISO ที่ 100 คงที่

1. ความไวชัตเตอร์ 1000 รูรับแสง 8

2. ความไวชัตเตอร์ 500 รูรับแสง 11

3. ความไวชัตเตอร์ 250 รูรับแสง 16

4. ความไวชัตเตอร์ 125 รูรับแสง 22

ทั้งสี่ข้อ กล้องจะได้รับแสงเท่ากันทั้งหมด

เพราะเมื่อเราลดความไวชัตเตอร์ลง 1 สต๊อฟ(ทำให้แสงเข้าเพิ่มอีก 1 สต๊อฟ) แต่ในขณะเดียวกัน เรากลับเพิ่มค่ารูรับแสงเพื่อให้แสงเข้าน้อยลง 1 สต๊อฟด้วย...ภาพที่ได้จากการตั้งค่าทั้ง 4 ข้อ จึงได้แสงเท่ากันหมด....แต่ ภาพที่ได้จะไม่เหมือนกันครับ(คงเข้าใจเรื่องความชัดลึกแล้วใช่มั๊ยครับ) 


ทบทวนการใช้งานในโหมดต่าง ๆ โหมด S กล้องบางรุ่นใช้ว่า T น่ะครับ 



Originally Posted by taewtong View Post
ไฮเปอร์โฟกัส มีหลายนิยามครับ แต่ก็เป็นความหมายในแนวทางเดียวกัน โดยสรุปคือ

"ระยะโฟกัสที่สั้นที่สุดที่จะได้ระยะชัดลึกมากที่สุด"
โดยระยะชัดจะเริ่มตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของระยะโฟกัสไปจนถึงสุดขอบฟ้า ...

ฟังแล้วงงมั๊ย งงแน่ๆ โอเค งั้นพูดภาษาคนก็ได้ คืออย่างงี้ สมมุติว่าเราอยากจะถ่ายภาพวิวทิวทัศน์
ที่อยากให้ชัดตั้งแต่ฉากหน้าไปจนถึงสุดขอบฟ้าจะทำยังไง? มันมีหลายวิธีครับ แต่วิธีที่นิยมคือ
การใช้ "ไฮเปอร์โฟกัส" โดยมันหลักการที่ว่า ถ้าเราโฟกัสภาพไปที่วัตถุใกล้ๆ ความชัดลึกจะตื้นมากๆ
(เหมือนถ่ายภาพมาโครไง) แต่ถ้าเราไฟกัสไกลออกไปอีก ระยะชัดลึกก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก และถ้าเรายิ่งโฟกัส
ไกลออกไปอีก ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (โดยระยะชัดจะขยายออกไปทั้งทางด้านหน้าและหลังของจุดโฟกัส)

และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งระยะชัดจะมากไปจนถึงสุดขอบฟ้า (โห...) ซึ่งจุดนี้และเราเรียกว่า "ไฮเปอร์โฟกัส"
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าระยะเท่าไหร่ อันนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ได้แก่
- ขนาดของ Image Sensor ในตัวกล้อง (ยิ่งขนาดเล็กก็ยิ่งชัดลึก )
- รูรับแสง (อันนี้คงไม่ต้องบอกนะ)
- ทางยาวโฟกัส (ยิ่งทางยาวโฟกัสสั้น ระยะชัดลึกยิ่งมาก)

ยกตัวอย่าง
กล้อง Nikon D50 ใช้เลนส์ 18 มม.
- ถ้าใช้ f/5.6 จะได้ ระยะไฮเปอร์โฟกัสที่ 2.88 เมตร (นั่นคือ ต้องเล็งโฟกัสไปที่ระยะ 2.88 เมตร จะได้ระยะชัดตั้งแต่ 1.44 เมตร - สุดขอบฟ้า)
- ถ้าใช้ f/8 จะได้ ระยะไฮเปอร์โฟกัสที่ 2.04 เมตร (นั่นคือ ต้องเล็งโฟกัสไปที่ระยะ 2.04 เมตร จะได้ระยะชัดตั้งแต่ 1.02 เมตร - สุดขอบฟ้า)
- ถ้าใช้ f/16 จะได้ ระยะไฮเปอร์โฟกัสที่ 1.03 เมตร (นั่นคือ ต้องเล็งโฟกัสไปที่ระยะ 1.03 เมตร จะได้ระยะชัดตั้งแต่ 0.5 เมตร - สุดขอบฟ้า)

แล้วตกลงเราจะรู้ได้ไงล่ะว่าทางยาวโฟกัสเท่านี้ รูรับแสงเท่านี้ จะต้องเล็งไปที่ระยะเท่าไหร่? (นั่นสิ ยังไม่บอกนี่นา)
อันนี้ต้องดูที่กระบอกเลนส์ครับ ง่ายสุดแล้ว 


ทีนี้เรามาดูที่กระบอกเลนส์กันครับ บนกระบอกเลนส์ตัวอย่างนี้ จะมีตัวเลขทั้งหมด 4 แถว

แถวที่ 1 - บอกระยะโฟกัส (มีหน่วยเป็นฟุต)
แถวที่ 2 - บอกระยะโฟกัส (มีหน่วยเป็นเมตร)
แถวที่ 3 - สเกลสำหรับใช้หาค่าไฮเปอร์โฟกัส ซึ่งจะมีทั้งฝั่งซ้ายและขวาเหมือนๆ กัน
แถวที่ 4 - วงแหวนปรับรูรับแสง (ไม่ต้องสนใจมัน)

วิธีการใช้งานคือ ให้มองดูแถวที่ 2 สังเกตว่าขวาสุดจะเขียนว่า infinite
ซึ่งเราต้องหมุนวงแหวนโฟกัสให้ตำแหน่งของ infinite ไปตรงกับค่ารูรับแสงที่เราใช้ (แถว 3 ฝั่งขวามือ)
(ไม่ต้องพยายามหมุนให้มาถึงฝั่งซ้ายหรอกนะ เพราะมันล็อคใว้แค่นั้น แต่ถ้าคุณทำได้นั่นแปลว่าเลนส์เจ๊งแล้ว ส่งซ่อมซะนะ)
ในตัวอย่างนี้ เขาหมุนมาตรงกับ f/16 นั่นแปลว่าถ้าใช้รูรับแสงที่ f/16 จะได้ระยะชัดจนถึงสุดขอบฟ้าแล้วล่ะ (เย้ๆๆ)
แต่ว่า...ระยะใกล้สุดล่ะ มันอยู่ที่กี่เมตร? อยากรู้ต้องดูที่ฝั่งซ้ายแถวที่3 ตรงช่อง 16 จะชี้ไปที่ระยะประมาณ 0.75 ของแถวที่ 2
ซึ่งจะได้ระยะชัดประมาณ 0.75 เมตร (โดยประมาณ)

สรุปคือ ถ้าทำตามภาพตัวอย่าง จะได้ระยะชัดตั้งแต่่ 0.75 เมตร - สุดขอบฟ้าครับ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วงงมั๊ย (ผมยังงเลย -*-)

ถ้าเราจะใช้รูรับแสงที่ f/8 ก็หมุนวงแหวนโฟกัสให้เครื่องหมาย infinite ไปที่ตำแหน่ง 8 ของแถวที่ 3
ก็จะรู้ว่าจะได้ระยะชัดตั้งแต่กี่เมตรถึงขอบฟ้า


เพิ่มรูปเพื่อความเข้าใจมากขึ้นนะครับ

จบแล้วครับสำหรับในตอนที่ 1 แนะนำและวิธีการทำงานของกล้องและเลนซ์ครับอาจจะยาวไปสักหน่อยแต่ได้ความรู้แน่นอนครับ แล้วเจอกันในตอนที่ 2 ครับ